4 คดี ทักษิณ โดนศาลพิพากษา หากกลับไทยรับโทษ เหลือจำคุก 10 ปี

Uncategorized

หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวเกียวโด สื่อดังจากญี่ปุ่น ระบุพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทย แลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในไทยที่กำหนดจะมีขึ้นจะออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา นายทักษิณ มีคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว 4 คดี หากกลับเข้าประเทศไทย ตามที่ประกาศจะมีโทษถูกจำคุก เหลืออีก 10 ปี จากทั้งหมด 12 ปี เพราะ 1 ใน 4 คดีนี้ปัจจุบันหมดอายุความแล้ว โดย 4 คดีดังกล่าว ประกอบด้วย

คดีที่ 1 – คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากที่เดินทางกลับมา ภายหลังพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่จีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน โดยปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

คดีที่ 2 คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม

โดยศาลพิพากษารวมโทษ จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็นฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

คดีที่ 3 – คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ หวยบนดิน ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีที่ 4 – คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

โดยศาลเห็นว่า นายทักษิณ สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *